530 จำนวนผู้เข้าชม |
1.ตรวจเช็คพื้นที่ ที่จะทำการวางหรือติดตั้งมอเตอร์ ว่ามีความชื้นหรือมีน้ำหรือไม่
สิ่งที่ต้องตระหนักอยู่เสมอก็คือ ความชื้นและน้ำต้องอยู่ห่างจากตัวมอเตอร์ ซึ่งตัวมอเตอร์อาจจะมีฐานรองเป็นเหล็ก พื้นที่ติดตั้งจึงจำเป็นต้องห่างไกลจากความชื้นและน้ำ เพื่อที่จะช่วยลดการเกิดสนิมให้ช้าลง รวมไปถึงลดการสั่นสะเทือนของตัวมอเตอร์ ขั้วต่อไฟฟ้าก็จะแน่นอยู่เสมอ
2.ตรวจเช็คความสะอาดของมอเตอร์
ตรวจดูว่าใบพัดมอเตอร์หรือส่วนประกอบต่างๆของตัวเครื่องมีฝุ่นหรือสิ่งสกปรกเกาะติดอยู่หรือไม่ หากมีควรทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนการใช้งาน เพื่อช่วยให้มอเตอร์ระบายความร้อนได้ดี เพราะถ้าตัวมอเตอร์ร้อนจะทำให้กินไฟมาก เปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ ที่สำคัญค่าไฟก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
3.ตรวจเช็คความแน่นของขั้วไฟฟ้าตามจุดต่างๆ ว่ามีความแน่นเพียงพอหรือไม่
หากขั้วไฟฟ้าหลวมไม่แน่นพอเมื่อใช้งานไปจะทำให้เกิดความร้อนขึ้นได้ที่จุดต่อ ซึ่งแรงดันไฟฟ้าที่ตกคร่อมในจุดต่อที่หลวม จะทำให้มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานที่ระดับแรงดันต่ำกว่าพิกัด ส่งผลให้เกิดความร้อนในตัวมอเตอร์ ยิ่งไปกว่านี้ หากจุดต่อเกิดการแตกหักและหลวม จนทำให้เฟสของแรงดันไม่ครบ อาจมีผลทำให้มอเตอร์ไฟฟ้าเสียหายได้เกือบจะทันที
4.ตรวจเช็คขดลวดมอเตอร์อยู่สม่ำเสมอ
โดยตรวจเช็คฉนวนที่เคลือบอยู่และทำการเคลือบฉนวนซ้ำ เพื่อลดต้นทุนในการเปลี่ยนขดลวดมอเตอร์ใหม่ซึ่งมีต้นทุนสูงมากกว่าการเคลือบฉนวนซ้ำ
5.ตรวจเช็คตลับลูกปืนก่อนที่จะเสีย
โดยทำการเปลี่ยนจาระบีเพื่อช่วยให้การหล่อลื่นดีขึ้น ซึ่งสามารถช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดกับเพลาของมอเตอร์และชิ้นส่วนอื่นๆ ได้เป็นอย่างมาก
หากเราหมั่นดูแลรักษามอเตอร์อยู่สม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายไปได้มากเลยทีเดียว และไม่ทำให้งานต้องหยุดชะงักในกรณีที่มอเตอร์เสียและต้องทำการเปลี่ยนมอเตอร์ใหม่อีกด้วย